วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กับดักรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 1


หนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ


บทความผลงานของนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชิญอ่านตามอัธยาศัยครับ
..............................................



กับดักรัฐธรรมนูญ
[1]

โดย
นายชัยพงษ์ สำเนียง
[2]

เกริ่นนำ

ภายใต้สถานการณ์ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่ได้ชื่อว่า คมช.(แล้วแต่จะแปล) โดยคณะกรรมาธิการยกร่างส่วนใหญ่เป็นนักนิติศาสตร์ หรือนักกฎหมาย รวมถึงผู้ที่ออกมาแสดงความคิดความเห็นก็เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้มองได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผูกขาดโดยนักกฎหมาย(ซึ่งก็ไม่จริงเพราะผู้ผูกขาดการตัดสินใจที่แท้จริงก็ คือ ผู้แต่งตั้งกรรมาธิการฯต่างหาก) ซึ่งอาจทำให้ขาดมุมมองอื่นๆ จึงนำมาสู่การเขียนบทความชิ้นนี้ เพื่อร่วมแสดงความคิดความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งทีที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในเวลานี้ โดยในบทความชิ้นนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ : การมีส่วนร่วมของประชาชน 3 . กับดักรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ให้เห็นรัฐธรรมนูญในฐานะระเบิดเวลาทางสังคมที่จะสร้างปัญหาในอนาคต



ประติมากรรม "ฟื้น.. ประชาธิปไตย" ฝีมือการปั้นของ จรูญ มาถนอม
ที่มา :
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jezt&month=10-2005&date=09&group=7&blog=1


1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญถูกให้ความหมายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีศักย์สูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี้เป็นความหมายโดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่นี้ขอให้ความหมายของรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รธน.เป็น “พื้นฐานของการเคลื่อนไหวของมวลชน กลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต(ดิน น้ำ ป่าไม้ ฯลฯ)และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่มองตัวหนังสือสำคัญกว่าคุณค่าของความเป็นคน รัฐธรรมนูญจึงมีความหมายอย่างที่นำเรียน ประการหนึ่ง

ประการต่อมา คือ รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคล องค์กรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตว่ามีตำแหน่งแห่งที่ หรือที่ยืนของตนเองอย่างไร องค์กร/คนไหนมีอำนาจมาก องค์กร/คนไหนมีอำนาจน้อย หรือองค์กร/คนไหนไม่มีอำนาจเลย หรือพูดง่ายๆว่าท่านควรเป็นไพร่ที่ไร้อำนาจ หรือมีมีอำนาจน้อย หรือเป็นเจ้าศักดินา ขุนนางผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคาร ด้วยการใช้อำนาจที่อาจฉ้อฉล รัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรต่างๆตราบที่ยังไม่มีใครฉีกทิ้ง

ท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนตรายางประทับความชอบธรรมของการกระทำต่างๆที่บอก/อ้างว่าชอบธรรม โดยรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่กำหนดแต่ถูกตีความโดยเนติบริกรก็ตาม

รัฐธรรมจึงมีความสำคัญทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของคน/องค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้สังคมที่บูชาอักษร เหนือคุณค่าความเป็นคน

2. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ : การมีส่วนร่วมของประชาชน

กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักย์สูงสุดที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้ (โดยที่เราจะมองว่ามันทำงานได้จริงหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ของคน/องค์กรต่างๆ กฎหมายรัฐธรรมจึงมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่ถือใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในอดีตการร่าง หรือการเขียนรัฐธรรมนูญล้วนเกิดจากผู้มีอำนาจที่ครอบครองอำนาจรัฐ ทั้งคณะปฏิวัติ รัฐประหารชุดต่างๆ ที่ต่างอ้างตัวว่าเป็น “รัฐฐาธิปัตย์” ซึ่งชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง(โดยอย่างหลังจะมากกว่า) ตั้งคณะกรรมาธิการฯบ้าง เขียนโดยคน 2-3 คนบ้างออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. .......ออกมาบังคับใช้ เพื่อสนองต่ออำนาจของกลุ่ม/องค์กร/คณะบุคคล แห่งตน โดยประชาชนคนเดินดินกินข้าว หาเช้าบ้างไม่พอถึงค่ำไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่จัดความสัมพันธ์ระหว่าง “เขา” กับ “รัฐ” เลย

รัฐธรรมฉบับก่อนปี พ.ศ. 2540 จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนน้อยมาก หรือ ถึงมีการบัญญัติก็ถูกปฏิบัติใช้น้อยมากจะกล่าวอย่างละเอียดข้างหน้า ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนปี พ.ศ. 2540 จึงเป็นแต่เพียงตรายางของผู้มีอำนาจเท่านั้น

รัฐธรรมนูญของไทยหลายต่อหลายฉบับที่ว่าดีแต่ก็ถูกฉีกทิ้งอย่างง่ายดาย รวมทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 ด้วย โดยผู้กระหายอำนาจที่อ้างความสงบสุขของประชาชนและประเทศนำหน้าแบบหน้าด้านๆ แต่เพราะเหตุใดเล่ารัฐธรรมนูญที่ว่าดีจึงถูกฉีกได้อย่างง่ายดาย โดยประชาชนคนไทยไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้กระทำการนั้นๆ คำตอบก็อยู่ในสายลม คือ “ประชาชนคนไทยไม่มีส่วนในความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทั้งในสำนึก และในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ในความหมายไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้คนตัวเล็กตัวน้อยผู้เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าผู้รากมากดี/ขุนศึกศักดินา/พ่อค้านายทุนยังไงละ” รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ควรหวงแหนในเมื่อมันไม่ให้อะไรแก่เขาเหล่านั้นเลย แล้วจะเสียเวลาออกมาปกป้องเพื่ออะไร

การแสดงความคิดเห็นข้างต้นอาจถูกตีความได้ว่าแล้วเราในฐานะประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ ในเมื่อมันไม่เกิดประโยชน์แก่เรา “ผิดถนัด” ครับ เพราะอย่างไรเสียเราก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังมีการร่างนี้ได้ ยกเว้นเราเนรเทศตัวเองไปอยู่ ณ โลกอื่นเสีย

(อ่านต่อตอนที่ 2)

[1] ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "หนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ ปีที่ 6 ฉบับที่ 279 (7-11 พ.ค.50) - ฉบับที่ 282 (28 พ.ค.-20 มิ.ย.50) "ในการเขียนบทความครั้งนี้ได้ขโมยแนวคิดมาจากการสนทนากับอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ พี่โป๊ะ พี่เอ็ป และลุงทองแห่ง คกน. และการได้รับเชิญให้ไปออกรายการข่วงผญาทางสถานีวิทยุ FM 100 ในส่วนของชื่อบทความได้ แนวคิดจากคุณชัยนุวัฒน์ เพื่อนร่วมห้อง ส่วนความผิดพลาดของบทวามทั้งหมดล้วนเกิดจากความเขลา ความไม่รู้ และความตื้นเขินของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
[2] นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: