วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

วาทกรรม [Siam not Thailand: ร่วมลงชื่อให้เปลี่ยนชื่อประเทศว่า “สยาม” แทน “ไทย”] ตอนที่ 3

ตอนนี้จะนำเสนอ บทความที่เกี่ยวเนื่อง เป็นบทความในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โดย อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ทัศนะวิจารณ์

ใต้กระแส:การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (2)
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 07:00:00
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/12/WW12_1234_news.php?newsid=68883


ที่มา : http://www.ubru.ac.th/ccu/webboardlaos/data/imagefiles/R27-3.gif

ผมได้เขียนไปในคราวก่อนแล้วว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ อันได้แก่ การเสนอให้ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” กับ “การเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยาม” ซึ่งในเรื่องแรกผมได้เขียนอย่างละเอียดไปแล้ว
วันนี้ ผมขอเน้นประเด็น “การเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยาม” ซึ่งเป็นความพยายามของกลุ่มนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่นำโดยท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ผมคิดว่าการเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศ มาจากเจตจำนงที่ดียิ่ง นั่นคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยที่คนทุกชาติพันธุ์ใน “ประเทศสยาม” จะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองของประเทศ ในแง่นี้อัตลักษณ์ไทยย่อมไม่ได้หมายถึงความเหมือนกันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยการบังคับให้ทุกคนต้องสละวัฒนธรรมเดิมของตน แล้วทำตัวให้อยู่ในกรอบของมาตรฐานกลางดังเช่นที่รัฐได้พยายามกระทำในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และรังแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ

อย่างไรก็ตาม ผมสงสัยว่า เป็นการดีที่สุดหรือเปล่า ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนชื่อประเทศกลับไปเป็น “สยาม” กำลังคิดไม่ตก ก็บังเอิญได้อ่านข้อคิดเห็นของคุณ “ต้มยำ” ในเวบไซต์ฟ้าเดียวกันกระทู้หัวข้อข่าวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเห็นด้วยกับการเสนอเปลี่ยนชื่อ ผมเห็นว่าข้อโต้แย้งของคุณ “ต้มยำ” น่าสนใจดี ก็เลยคัดลอกมาให้อ่าน

คุณ "ต้มยำ" เขียนไว้อย่างนี้ครับ
"ประเทศ" "สยาม" ถูกใช้ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าด้านหนึ่งดูเหมือนว่าจะสะท้อนความคิดเรื่องความหลากหลายของชาติพันธุ์ในประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ซ่อนไว้ด้วยอุดมการณ์ของความไม่เสมอภาคของเจ้ากับไพร่ ดังจะเห็นได้จากการให้ความหมายของคำว่าสยามต่อคนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเน้นความเป็นคนไทยและ/หรือเป็นคนสยาม คำว่า “สยาม” ถูกทำให้มีความหมายด้านเดียวคือยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไม่นานมานี้เอง เมื่อก่อนถูกให้ความหมายในด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันมากกว่า

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนคำเรียกประเทศจาก "สยาม" มาเป็น “ไทย” ที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการใช้อำนาจพลการของเผด็จการทหาร แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่ามีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงสองเรื่องด้วยกัน
1. เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับ “เจ้า” และเป็นความพยายามที่จะลดทอนความแตกต่างทางชนชั้นตามชาติกำเนิด จะเข้าใจจอมพล ป. ได้ก็ต้องเข้าใจทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาที่ลดความแตกต่างของชนชั้น การสร้างสถาปัตยกรรมที่มีนัยประหวัดถึงความเท่าเทียม ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการคิดแบบนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้จอมพล ป. ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศ
2. การเปลี่ยนชื่อประเทศในครั้งนั้นมีคนเห็นด้วยไม่น้อยทีเดียว หากเราพิจารณาหลักฐานอื่นๆ ประกอบ จึงไม่ใช่แค่การตัดสินใจของจอมพล ป.และพรรคพวกเท่านั้น

นอกจากนั้น “สยาม” ถูกใช้เป็นนามของประเทศในช่วงเวลาที่สั้นมากหากเปรียบเทียบกับ “ไทย” และคำว่า “ไทย” ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความหมายให้ยอมรับความหลากหลายได้ ไม่จำเป็นต้องมีความหมายแบบเดียวเท่านั้น

จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ต้องเถียงกันให้กว้างขวาง และต้องทำให้เห็นความแตกต่างของเวลาและต้องเห็นความหมายทุกอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงได้
เปลี่ยนชื่อประเทศในวันนี้จะให้ประโยชน์อะไรต่อคนไทย แก้ปัญหาภาคใต้ได้หรือไม่ ไม่มีทางที่การแก้ปัญหาหลักในสังคมไทยได้ด้วยการหวนกลับไปหาชื่อเดิมของประเทศ ...”

ความเห็นของคุณ “ต้มยำ” น่าสนใจในแง่ที่ถกเถียงว่าความหมายทางสังคมของคำ "ไทย" หนือ "สยาม" นั้นน่ามีความลึกซึ้งและแฝงอะไรไว้มากกว่า “ชาตินิยม-คลั่งไทย” แต่เพียงอย่างเดียวครับ


ที่มา : http://www.rtatour.net/image%20pr%20news/08.08.49_kraleang.jpg

สำหรับผมเองนั้น แม้ว่าผมเห็นด้วยกับกลุ่มท่านอาจารย์ชาญวิทย์ว่า ปัญหาชาติพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในวันนี้ เรื่อง “ชนชั้น” ก็เป็นเรื่องใหญ่เช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่กระแสการเมืองถอยหลังเข้าคลองแบบนี้ ผมจึงไม่แน่ใจว่าหากกลับไปใช้คำว่า “สยาม” ซึ่งเคยมีนัยของการยอมรับเรื่องชนชั้น จะมีผลตามมาอย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเคลื่อนไหวของอาจารย์ชาญวิทย์ก็น่าจะทำให้สังคมไทยได้เปิดพื้นที่การถกเถียงในประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ไทยกันได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจังหวะความจำเป็นของสังคมไทยในยามที่เคลื่อนเข้าสู่พลวัตของโลกเข้มข้นขึ้นทุกนาทีครับ

ผมอยากจะร่วมถกเถียงอย่างนี้ครับ คือ สมัยที่ใช้ชื่อว่า “ประเทศสยาม” ก็ไม่ได้ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างแท้จริง ในสมัย สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความพยายามที่จะเปลี่ยนคนในท้องถิ่นต่างๆ ให้ใช้ภาษาไทยภาคกลาง นับถือศาสนาแบบกรุงเทพฯ ใช้วัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เป็นแม่แบบ ฯลฯ

รวมทั้งก่อนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า “สยาม” ในสมัยโบราณ ก็เน้นไปที่ดินแดนภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบันมากกว่า ผมสงสัยว่าไม่ได้รวมถึงล้านนา อีสาน และภาคใต้แต่อย่างใด

ส่วนคำว่า “ไทย” ในความหมายว่า “อิสระ” แม้ว่าจะเป็นคำที่ถูกให้ความหมายใหม่ แต่ก็มีรากฐานเดิมมาจากคำว่า “ไต” หรือ “ไท” ในภาษาไทยโบราณ หรือคำว่า “เทยย” ในภาษาบาลี นับเป็นชื่อที่ชาติพันธุ์ไตหรือไทเรียกตัวเองมาเนิ่นนาน

จะดีกว่าไหมครับถ้าเราจะใช้ชื่อว่า “ไทย” ต่อไป โดยเน้นความหมายเรื่อง “ความเป็นอิสระ” แต่ให้ความหมายคำว่า “อิสระ” ให้กินความกว้างกว่า “เอกราชของชาติ”

นั่นคือต้องเป็น “อิสระ” ในความหมายที่คนทุกชาติพันธุ์มีอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง มีสิทธิต่าง ๆ เป็นของตนเองอย่างเสมอภาคกับคนอื่น ๆ ในสังคมไทย

พูดง่ายๆ ก็คือ “ไทย เท่ากับอิสรภาพในระบอบประชาธิปไตย” นั่นเอง

อรรถจักร สัตยานุรักษ์
............................................................................

ติดตามต่อไปนะครับ

เมตตา พร และธรรม แด่ท่านผู้อ่าน
บอกอออนไลน์
16 มิย 50

ไม่มีความคิดเห็น: