วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กับดักรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 3

3 . กับดักรัฐธรรมนูญ


ที่มา : http://www.thaidphoto.com/forums/attachment.php?attachmentid=88559&stc=1&d=1123866773

ในข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความหมาย และความสำคัญของรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีกระบวนการได้มาภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน นำไปสู่กระบวนการที่จะไปสู่เป้าหมายที่ต่างกันในที่นี้จะขอละการอธิบายในส่วนของรัฐธรรมนูญ’40 ว่าส่งผลอะไรต่อสังคมไว้ก่อนเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ’40 ได้ถูกฉีกทิ้งแล้ว (แม้หลักการและบรรทัดฐานที่รัฐธรรมนูญปี’40 จะคงมีอิทธิพลต่อสังคมในบ้างด้านก็ตาม) ในที่นี้จะขออภิปรายถึงประเด็นต่างๆในรัฐธรรมนูญ’50 ที่จะเป็นกับดักของสังคมต่อไปในอนาคต

3.1 กระบวนการและเป้าหมายที่แยกจากกันนำสู่ความแปลกแยกของรัฐธรรมนูญฉบับ’50

ร่างรัฐรัฐธรรมปี’50 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดภายใต้เงื่อนไขของการทำรัฐประหาร ดังที่ได้
อธิบายข้างต้น ซึ่งนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ’50 ที่อาจมีเป้าหมายเพื่อจัดโครงสร้างทางอำนาจในสังคมใหม่? ซึ่งอาจเป็นเจตนาที่ดี? แต่มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา คือ “การแยกระหว่างเป้าหมายออกจากกระบวนการ” ซึ่งเป้าหมายที่ดีนั้นไม่มีใครมองว่าผิด แต่กระบวนการที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังที่อธิบายข้างต้นการที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ’50 ประชาชนถูกตัดตอนออกจากกระบวนการร่างฯถึงมีก็น้อยมาก จะส่งผลต่อความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ’50 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ’50 เลย

โดยแท้จริงแล้วภายใต้สถานการณ์การรัฐประหารที่ชาวประชามองว่าไม่ชอบธรรม เพื่อนำสู่เป้าหมายบางอย่าง ผู้กระทำการย่อมต้องพึ่งสำเหนียกถึงกระบวนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น ในที่นี้ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญย่อมต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการที่ชอบธรรม คือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนอย่างมากที่สุด เพื่อกำหนดทิศทางของ รธน. แต่นี้ไม่ ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย ซึ่งกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมจะนำสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมย่อมยากยิ่ง(ซึ่งก็แปลกดีนะที่อ้างว่าเป็นคณะคนดีแต่ทำไมกระบวนการมาไม่ดีดันเป็นคนดีได้)

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็น รธน.(ต่อไปจะใช้แทนรัฐธรรมนูญ)ที่แปลกแยกจากสังคมและประชาชน ใครมาฉีกทิ้งหรือทำลายก็ไม่เกี่ยวเพราะไม่ใช่ของ... เปรียบเหมือนภรรยาเราท่านคลอดลูกโดยไม่มีอะไรกันมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าๆแล้ว พอลูกคลอดออกมาบอกว่าเป็นลูกของท่าน ท่านกรรมาธิการยกร่างฯที่เคารพท่านยอมรับหรือไม่ ก็เหมือนกันในเมื่อ รธน.ฉบับนี้ประชาชนไม่มีส่วนในกระบวนการร่าง แต่พอจะให้ลงประชมติมาบอกว่านี้ของเองต้องรับถึงรับก็ไม่เต็มใจ และไม่มีความเป็นเจ้าของด้วยครับ

สมมุติมีการรับอย่างจำใจ จะมานำสู่อายุของ รธน. ฉบับนี้ที่มีอายุการใช้งานที่สั้นมากเนื่องจากเจ้าของประเทศที่แท้จริงเขาไม่ยอมรับ ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทำให้คลอด(ร่างฯ) แต่ดันมีพ่อรู้ดีมาบอกว่าต้องเอา ต้องรับ สุดท้ายท่านหมดอำนาจเมื่อไหร่เขาก็โละทิ้งก็ชอบธรรมไม่หยอก



การ์ตูนชัย ราชวัตร ไทยรัฐ สำเนามาจากเว็บไซต์ "คมช."!?!
ที่มา :
http://www.cns.go.th/index.asp

3.2 มโนทัศน์การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550[1]

การร่าง รธน.ปี’50 เกิดภายใต้สถานการณ์พิเศษ(นำมาสู่การใช้อภิสิทธิ์อย่างพิเศษของคน
พิเศษด้วย)ดังอธิบายข้างต้น โดยมีแนวคิดหลักในการร่าง คือ

ประการที่หนึ่ง กำจัด หรือป้องกันการกลับมาของ ‘ระบบทักษิณ’ นำมาสู่การสร้างระบบป้องกัน และกำจัด ‘ระบบทักษิณ’ ในวิถีทางต่างๆ และจากแนวคิดทำนองนี้ทำให้การร่าง รธน. เป็นการร่างเพื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อกำจัดระบบที่ไม่พึงประสงค์นี้ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ รธน. ที่ท่านร่างนี้จะส่งผลต่ออนาคตแน่นอน เพราะเมื่อเราคิดกลไกในการกำจัดระบบใดระบบหนึ่งย่อมต้องคิดเครื่องมือเพื่อกำจัด ทำลายเป้าประสงค์นั้นๆ โดยทำให้ละเลยหนทางแก้ปัญหาในวิกฤต หรือระบบแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเครื่องมือที่ท่านสร้างอาจเป็นตัวทำลายระบบที่ท่านสร้างเอง เช่น การเอาอำนาจต่างๆทั้งการแก้วิกฤตของประเทศ การเลือกองค์กรอิสระ ฯลฯไปแขวนไว้ที่ศาลซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาความเป็นกลางของศาล และการถูกแทรกแซงจากองค์กรทางการเมือง จนนำสู่ความไม่น่าเชื่อถือของศาลต่อไปในอนาคตได้ ฉะนั้นการร่าง รธน. ที่เป็นเครื่องมือจัดความสัมพันธ์ทางสังคมจึงต้องพึงระวังในการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือที่มิใช่ตอบสนองผลประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามย่อมต้องคิดถึงอนาคตให้มากกว่านี้

ประการที่สอง การไม่ไว้ใจประชาชน เป็นความเข้าใจของผู้เขียนว่าผู้ร่าง รธน. ฉบับนี้ คมช.คณะรัฐมนตรี ฯลฯ(ส่วนใหญ่)มองประชาชนในชนบทว่าโง่ และถูกหลอกจาก ‘ระบบทักษิณ’เป็นผู้เสพติดประชานิยม จึงมองประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ จนนำมาสู่การให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง รธน. น้อยมากดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น และนำมาสู่การสร้างเครื่องมือเพื่อควบคุมการใช้อำนาจประชาชน เช่น การเลือกตั้ง สว. ที่เป็นบทบัญญัติใน รธน. ปี’40 ในฉบับปี’50 ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบสรรหาซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตจะอภิปรายในหัวข้อต่อไป รวมถึงการออกมากรนด่า ประณามผู้ไม่เห็นด้วยของบรรดาเทวดาทั้งหลาย ที่บอกว่าผู้ต่อต้าน หรือจะลงมติไม่รับร่าง รธน.’50 เป็นพวกทักษิณ โดยไม่มองว่าเขาไม่เห็นด้วยในประเด็นใด มองเหมารวมว่าเป็นพวกทักษิณหมด คนที่ออกมาต่อต้านเป็นคนเลว ไม่รักชาติ(ชาติจึงเป็นสมบัติของผู้เห็นด้วยเท่านั้น)ไม่เชื่อลองฟังจากคำพูดของ รมว.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกะลาโหม และบรรดา คมช. ฯลฯ เถิดพี่น้องทั้งหลาย ประชาชนจึงเป็นส่วนเกินของ รธน.’50

ประการที่สาม การเมืองของคนดี นิยามของการเมืองถ้ายึดตามร่าง รธน.’50 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ต้องเป็นการเมืองของคนดี? เป็นการเมืองของเทวดา ต้องเป็นผู้ไม่โลภ? เป็นผู้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดังผ้าขาวเปื้อนขี้ (ขออภัยนึกว่าผ้าอ้อมเด็ก)ที่ไม่มีมลทิน เป็นผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจแต่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเมืองแบบไทย” ต้องเอาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง โครงสร้าง/ระบบมันจะฉิบหายอย่างไร ถ้าคนดีเข้ามาปกครองดีหมดพูดง่ายระบบไม่เกี่ยว “คนดี”??ในทีนี้จึงเป็นประหนึ่งเทวดาที่มาเนรมิตความเจริญ ความเท่าเทียมให้สังคมไทย
ประชาชนต้องคอยช่วยคนดีปกครอง ห้ามถาม ห้ามเรียกร้อง น้ำจะท่วมนา ปลาจะตายลอยน้ำ ฝนจะแล้ง หมอกควันจะทำให้หายใจไม่ออก โจรผู้ร้ายจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ ท่านทั้งหลายอย่าได้ปริปากเดี่ยวจะหาว่าไม่รักชาติ “ชาติ” “การเมือง”จึงเป็นของคนดีเท่านั้น (..ม..ไม่เกี่ยว)

ปัญหาของคนดีที่ รธน. มองไม่เห็น คนดีไม่จำเป็นต้องทำงานเป็น คนดีอาจไม่ดีจริง คนดีในมุมมองต่างๆอาจไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์เราอาจต้องการคนดีที่เก่งด้วย ทำงานเป็นด้วย บ้างครั้งเราอาจต้องการคนดีที่โง่แต่ตรวจสอบได้ บางครั้งเราอาจต้องการคนดีที่เข้มแข็ง ฯลฯ ฉะนั้นคนดีจึงไม่จำเป็นต้องถึงพร้อมแบบเทวดา? แต่ในเมื่อเราบอกว่า “ดี”ที่ไม่ต้องตรวจสอบถูกรับประกันโดยใครบางคนแล้วเราก็บอกว่า “ดี”แล้วอย่างนี้มีดีให้ประชาชนไหมละ

นายชัยพงษ์ สำเนียง
นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


[1] มโนทัศน์ ในที่นี้ต้องการให้สื่อความหมายถึง วิธีคิด มุมมอง ที่มีต่อปรากฏการณ์ วัตถุ แล้วนำมาสู่การกำหนดการกระทำ หรือทีท่าต่อปรากฏการณ์นั้น ๆ หรืออาจมองว่าเป็นการกำหนดท่าทีต่อโลกก็อาจได้

(อ่านต่อตอนที่ 4)

ไม่มีความคิดเห็น: