วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กับดักรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เปรียบเทียบกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550




ภาพบน การชุมนุม ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535
ที่มา :
http://www.thaingo.org/images/may01.jpg
ภาพล่าง "..."
ที่มา :
http://www.prachatai.com/05web/upload/HilightNews/library/200603_2/20060322_13.jpg


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกคณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คปค. หรือเปลี่ยนมาเป็น คมช.(แล้วแต่จะแปล) ฉีกทิ้ง มีบริบทของการเกิดที่มีนัยยะสำคัญ คือ เกิดจากเสียงเรียกร้องของประชาชนที่กว้างขวางในทุกระดับให้มีการปฏิรูปการเมืองเมือง รวมถึงต้องการสร้างบทบัญญัติเพื่อป้องกันนักการเมืองทุจริตประพฤติมิชอบ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องการให้มีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคน/องค์กรต่างๆในสังคมใหม่
รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 จึงมีที่มาจากการเรียกร้องของมวลมหาชน การที่มีที่มาจากการเรียกร้องของคนหลากหลายกลุ่มนำมาสู่วิธีการร่างรัฐธรรมนูญ’40 หรือ สร้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี’ 40 ที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆได้เข้าไปมีส่วนในการร่างฯอย่างกว้างขวาง คือ

1. มีการเลือกตั้งทางอ้อมของตัวแทนประจำจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คน จำนวน 76จังหวัด ไปรวมกับผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆอีก 23 คน รวมเป็น 99 คนเป็นกรรมาธิการยกร่าง
2. ในแต่ละจังหวัดมีคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นของคน/กลุ่ม/องค์กร ต่างๆ ไปเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่าง ในการนี้มีกลุ่ม/องค์กรเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย
3. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี’ 40 มีการทำประชาพิจารณ์ และให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามจังหวัดและภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ด้วยกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็น นำมาซึ่งบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การเข้าถึง และรักษาทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดก่อนหน้านี้(แม้รัฐบาลที่ได้ชื่อว่ารัฐบาลพระราชทานก็ตาม) รวมถึงการเกิดองค์กรใหม่ๆที่เอื้อต่อการจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในหลายๆด้าน(แม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ไม่ใช่กลุ่ม/คณะใดจะลุแก่อำนาจในการฉีกทิ้งอย่าง คมช. กระทำ)จนเกิดกลุ่มที่เห็นด้วย(ใช้ธงเขียวเป็นสัญลักษณ์)และกลุ่มไม่เห็นด้วย(ใช้ธงเหลืองเป็นสัญลักษณ์)ต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ’40 แต่การแสดงออกของประชาชนทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วม รับรู้ และสนใจต่อรัฐธรรมนูญ’40 อย่างกว้างขว้าง ท้ายสุดกลุ่มธงเขียวสามารถกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ลงมติผ่านร่างได้ในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี’ 40 จึงได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550


รัฐธรรมปี 2550 ที่กำลังร่างกันอยู่ ณ เวลานี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการรัฐประหารของ คมช. ที่ทำการโค่นอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทุนนิยม? ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (คนดีศรีเชียงใหม่ ขวัญใจรถแดง...)ที่ฉ้อฉล ตีความ บิดพลิ้ว เล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญปี’ 40 โดยความร่วมมือของเนติบริกร ที่แม้ปัจุบันก็กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้คติประจำใจว่า “อำนาจอยู่ที่ไหนกูชอนไชอยู่ที่นั้น...(คิดเองว่าตัวอะไร)”จนทำให้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คมช.

ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญ’ 50 จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ปกคลุมด้วยเผด็จการของคนดี? ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง(แต่ ณ เวลานี้คนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่ามาสร้าวิกฤติอีกรูปแบบหนึ่ง)

ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น จึงได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในสภาภาร่างรัฐธรรมนูญใช้วิธีการเลือกกันเองจากสมาชิกกลุ่มสาขาอาชีพ องค์กรต่างๆ ให้เหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกให้เหลือ 100 คน แล้วให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคัดเลือกสมาชิกสภาร่างฯขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนที่ คมช. ส่งมาอีก 10 คน ซึ่งกระบวนการนี้มีผู้ออกมายกย่องว่าเป็นการเลือกที่กระจายตามกลุ่มอาชีพอย่างทั่วถึง (อย่างไรก็ตามก็พึงเข้าใจว่าพวกคุณแอบเหล่านี้ล้วนได้ดิบได้ดีโดยการอวยตำแหน่งโดย คมช.อย่างถ้วนหน้า)การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีกำหนดไม่เกิน 1 ปี และในขณะที่ร่างฯก็ได้มีการออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง (อย่างประปรายประหนึ่งฝนที่ตกปรอยๆไม่ค่อยทั่วฟ้า เพราะเหล่าเทวดาไม่เต็มใจให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้สดับตรับฟังพระสุรเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญปี’50 แต่ท่านเหล่านั้นก็ส่งพวกลิ้วล้อสอพลออาชีพออกมาตำหนิติเตียนประชาชนว่าไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นประชาชนจึงโง่ แล้วก็โง่ ไม่ฉลาดอาจรู้สู้ชาวฟ้าผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังการรัฐประหาร 9/19/9/49 ได้) แต่พึงสังเกตว่ากระบวนการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสภาร่างฯกรรมาธิการยกร่างฯ คมช. ล้วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทั้งสิ้น

ท้ายสุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมเป็นเหมือนตัวหนังสือเปลื้อนกระดาษที่ชอบธรรม ก็ให้มีการลงประชามติโดยประชาชน เพื่อเป็นตราประทับรวมถึงมัดมือชก ว่าประชาชนเห็นชอบและมีส่วนร่วมกลับรัฐธรรมนูญฉบับ’50 แล้ว ถ้าประชามติไม่ผ่าน ทาง คมช. ก็มีสิทธิ์ที่จะยกเอารัฐธรรมนูญปีไหนก็ได้ในอดีต(ฉบับที่เอื้อต่อการครองอำนาจได้มากที่สุด)มาใช้

จะเห็นได้ว่าภายใต้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี’50 ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก รวมถึงความตื่นตัวของประชาชนเสนอความคิดความเห็นต่อบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญก็น้อยเช่นกัน จึงเป็นคำถามว่าเพราะเหตุใดผู้คนในสังคมจึงมีความสนใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้น้อย คำตอบก็อยู่ในสายลม ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีพิมพ์เขียวเสียแล้ว เสียงของชาวดิน(ประชาชน)ก็คงหมดความหมายดูจากกระบวนการร่างฯ การคัดสรรคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ การรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ ประชาชนมีส่วนในการกำหนดน้อยมาก แล้วจะหวังอะไรกับคนที่ตนไม่สามารถกำหนด/ควบคุมได้ ไอ้ที่พอจะควบคุมได้มันยังทรยศเลย

รัฐธรรมนูญ’50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกแยกจากผู้คนและสังคม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ’40 และร่างรัฐธรรมนูญ’50 ทั้งกระบวนการและเป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯ รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ชื่อว่า “ฉบับประชาชน”ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ทั้งกระบวนการ เป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯส่วนฉบับหลังน่าจะได้ชื่อว่า “ฉบับเผด็จการของคนดี” เพื่อคนดี?(ชั้นสูง)และความสมบูรณ์พูลสุขของ...กระมัง ซึ่งจะเสนอต่อไปข้างหน้าว่ารัฐธรรมนูญ’50 เป็นกับดักและระเบิดเวลาของสังคมไทยอย่างไร

นายชัยพงษ์ สำเนียง
นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(อ่านต่อตอนที่ 3)

ไม่มีความคิดเห็น: