วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ทัศนะวิจารณ์ ใต้กระแส : เปิดพื้นที่ให้กับความยุติธรรม โดย อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

อีกบทความหนึ่งของ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เช่นเดียวกันครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ในอีกมุมมองหนึ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้มอง มองข้าม หรืออะไรก็แล้วแต่ ลองฟังทัศนะวิจารณ์นี้ดูครับ


ภาพบน ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/12/WW12_1234_news.php?newsid=78294
ภาพล่าง ที่มา : สำนักข่าวชาวบ้าน http://www.thaipeoplepress.com/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=19&topic_id=340&topic_no=64&page=1&gaction=on
.........................................................................


ทัศนะวิจารณ์
ใต้กระแส : เปิดพื้นที่ให้กับความยุติธรรม
12 มิถุนายน พ.ศ. 2550
07:00:00

แถลงการณ์และข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่เข้าครอบครองมัสยิดที่จังหวัดปัตตานี มีพื้นฐานอยู่ที่การเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่สาม-สี่จังหวัดภาคใต้ เพราะหากปราศจากความยุติธรรม ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์รุนแรงและสับสนมากขึ้นไปอีก และนักศึกษากลุ่มนี้ได้เล็งเห็นว่าความ “อยุติธรรม” ที่ทำให้แผ่นดินภาคใต้ลุกเป็นไฟนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากกลไกอำนาจรัฐเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น

จากพื้นฐานนี้ทำให้กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้มี “คนกลาง” เข้ามาดูแลและจัดการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นมา อย่างน้อยก็ในกรณีเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์มากที่สุดได้แก่การฆาตกรรมและการข่มขืนสตรีมุสลิม กลุ่มนักศึกษาหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดระบบที่ยุติธรรมขึ้นมาในทุกพื้นที่ของภาคใต้


ข้อเรียกร้องเช่นนี้ ผิดตรงไหนหรือ จึงทำให้บรรดาข้าราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่และนายทหารระดับสูง ถึงได้พยายามแสดงความคิดเห็นทำลายการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมเช่นนี้ บรรดากลุ่มข้าราชการพยายามทำให้สังคมมองว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต้องมีเบื้องหลัง หรือมี “มือที่สาม” เข้ามาเกี่ยวข้อง การทำให้คนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษามี “เบื้องหลัง” หรือมี “มือที่สาม” เช่นนี้ ทำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่หรือในส่วนกลาง ไม่ต้องมีภาระที่จะต้องคิดต่อไปว่า อะไรคือต้นตอของความอยุติธรรม และจะสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้อย่างไร

น่าประหลาดใจนะครับที่คนในสังคมไทย มักจะยอมรับวิธีการคิดและใช้เหตุผลสามานย์เช่นนี้ได้เสมอมา ข่าวล่าสุดที่ผมได้ยินทางวิทยุก็คือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงวิเคราะห์ว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นแผนการที่ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ได้วางเอาไว้เพื่อจะสร้างการก่อการร้ายต่อไปอีก


กลุ่มนักศึกษาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
ที่มา : สำนักข่าวชาวบ้าน http://www.thaipeoplepress.com/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=19&topic_id=340&topic_no=64&page=1&gaction=on

ผมไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถวิเคราะห์และแปลความหมาย “การชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม” ให้ออกมาอย่างที่กล่าวข้างต้นนี้ได้อย่างไร หากท่านเหล่านี้คิดอย่างนี้จริงๆ ก็หมายความว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้อย่างแน่นอน เพราะมองและอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างที่ไม่รู้ว่าใช้สมองส่วนไหนคิดขึ้นมา

ผมคิดว่าสังคมไทยควรที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี อย่าให้ใครหน้าไหนมาปลุกปั่นและโยนเอาความรุนแรงลงไปที่ภาคใต้ให้ระอุมากขึ้นไปอีก เพราะหากเรายอมให้มีการปฏิเสธการสร้างความยุติธรรมที่ภาคใต้ ก็หมายความได้ว่าในอนาคต สังคมไทยไม่ว่าภาคไหนก็ตาม ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับความอยุติธรรมเสมอหน้ากัน

(ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ พี่น้องที่ปากมูลรับรู้ถึงความอยุติธรรมที่ข้าราชการระดับสูงซื่อบื้อทั้งหลายหยิบยื่นให้ โดยที่คนเหล่านี้ไม่เคยอ่านเอกสารการศึกษาเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลเลยแม้แต่หน้าเดียว ไม่รู้จักละอายบ้างเลยหรือที่เสนอว่าต้องรักษาระดับน้ำไว้เท่านั้นเท่านี้ โดยที่ไม่รู้เรื่องเลยว่าผลกระทบคืออะไร และชาวบ้านได้พยายามต่อรองมาถึงขั้นไหนแล้ว)

ข้อเสนอของนักศึกษาให้มี “คนกลาง” เข้าคลี่คลายปัญหาภาคใต้นี้ เป็นการเสนอพร้อมกับการแสดงความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างแจ่มชัด เพราะข่าวลือในพื้นที่ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าเหตุการณ์หลายเหตุการณ์นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จากน้ำมือผู้ก่อกวน หากแต่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง

ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดในการทำให้ชาวบ้านเข้าใจในความเป็นจริง และมองเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ชัดเจนขึ้น ก็คือ ต้องสนับสนุนการตรวจสอบกรณีต่างๆ ที่ชาวบ้านรู้สึกและเห็นว่าเหตุการณ์นั้นๆ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และชาวบ้านจะเชื่อผลการตรวจสอบนั้นก็เมื่อมีคณะกรรมการกลางที่ชาวบ้านเชื่อถือเป็นผู้ตรวจสอบ


ภาพแสดงกลุ่มเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงสลายตัวโดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 4 มิถุนายน 2550 http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=49385

เรื่องง่ายๆ ที่สามารถเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนี้ ทำไมเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ยอมเข้าใจ ทำไมคิดเป็นอย่างเดียวก็คือส่งทหาร ทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดนหรือกองกำลังอื่นๆ เข้าไปปฏิบัติการทางการทหารเพียงอย่างเดียว รวมถึงไม่ยอมแม้กระทั่งเข้าใจในความบริสุทธิ์ใจของนักศึกษา ที่อยากจะช่วยเหลือชาวบ้าน จนนำมาซึ่งการตอบโต้ในทางลบ และมีแนวโน้มว่าการตั้งคณะกรรมการ 45 ท่านที่จะมาคลี่คลายกรณีที่ชาวบ้านเชื่อว่าทหารพรานเป็นผู้รังแกชาวบ้านนั้น อาจจะต้องยุติไปในเวลาอีกไม่นาน

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมท่านเหล่านี้ ถึงไม่ยอมเข้าใจเรื่องง่ายๆ ที่เป็นหน้าที่ระดับพื้นฐานของรัฐ คือการสร้างความยุติธรรม และสร้างความเชื่อถือในความยุติธรรมที่รัฐเป็นผู้ผดุงเอาไว้นี้ ผมได้อ่านเอกสารแถลงการณ์ทุกฉบับของนักศึกษาแล้ว ผมไม่เห็นเลยว่ามีความไม่บริสุทธิ์ใจตรงไหน และที่สำคัญก็คือ การเสนอให้มีคณะกรรมการกลางในการสอบสวนเรื่องที่ชาวบ้านคับข้องใจนี้ ไม่มีอะไรขัดแย้งกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ภาคใต้นะครับ

คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณสมชาย ก็พูดอย่างชัดเจนว่า นักศึกษาที่ได้พบทั้งหมดนั้น ต้องการเพียงความยุติธรรม เนื่องจากผมไม่เข้าใจ ผมจึงชักจะสงสัยว่า การที่ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างไม่ยอมสนับสนุนแนวทางการสร้างความยุติธรรม ก็เพราะมีอะไรต้องปกปิดเอาไว้หรือเปล่า การคงทหารไว้ในพื้นที่ทำให้เกิดผลประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นบ้างไหม หรือแม้กระทั่งการทำให้เหตุการณ์ในภาคใต้ไม่สงบ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยเน้นย้ำกับสังคมว่าทหารยังมีความสำคัญและความจำเป็นต่อสังคม ใช่หรือไม่

ทั้งหมดคือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับผม และคงเกิดขึ้นกับคนไทยทั้งปวงที่รักความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน และเชื่อได้ว่าหากการตั้งคณะกรรมการกลางตามข้อเสนอนี้ถูกขัดขวางโดยผู้กุมอำนาจรัฐ ข้อสงสัยนี้ก็จะสะพัดไปทั่วทั้งภาคใต้และภาคอื่นๆ และเมื่อนั้น สังคมไทยก็จะไม่มีวันหวนกลับมาสงบสันติได้อย่างเดิมอีกต่อไป

ข้อเสนอของนักศึกษาในการยึดมัสยิดปัตตานีในคราวนื้ ได้สร้างแนวทางที่จะทำให้สังคมไทยได้มองเห็นการแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ชัดเจนขึ้น แต่แนวทางนี้จะได้รับการสานต่อจากรัฐหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพลังของสังคมในการกำกับและลดทอนการคิดเชิงเดี่ยวที่เน้นการใช้อาวุธเพียงอย่างเดียว เพราะเท่าที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่าการใช้แต่กำลังและอาวุธนั้น ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้เลย

พลังทางสังคมต้องแสดงตัวให้เด่นชัดว่าสนับสนุนข้อเสนอในการคืนความยุติธรรมให้แก่ภาคใต้ ในคราวก่อนที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้สรุปข้อเสนอที่ดีงามในการคืนความยุติธรรมให้แก่พี่น้องสามจังหวัดภาคใต้ แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติเลย ก็เพราะว่าพลังทางสังคมไม่สนับสนุนเพียงพอ (มิหนำซ้ำผู้ใหญ่บางคนก็คัดค้านโดยที่ไม่ได้อ่านเอง เช่น ทางกอส.เสนอให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน ผู้ใหญ่ก็ไปฟังว่าเป็นภาษาราชการ) จึงทำให้การคืนความยุติธรรมให้แก่พี่น้องมลายูไทยไม่เกิดขึ้น

ในวันนี้ สังคมไทยต้องเสนอให้มีคณะกรรมการกลางในทุกพื้นที่ที่จะดูแล ตรวจสอบและทำให้ข้อขัดแย้งต่างๆ เบาบางลง รวมทั้งต้องหยิบประเด็นการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มาศึกษาและนำไปปฏิบัติให้ได้

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
......................................................................

ธรรม พร และเมตตาแด่ท่านผู้อ่าน

บอกอออนลาย

16 มิถุนายน 50

ไม่มีความคิดเห็น: