วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กับดักรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 4(จบ)


ที่มา : http://www.matichon.co.th/newsphoto/khaosod/ctn02260949p2.jpg



3.1 ร่างรัฐธรรมนูญ’50 ให้สิทธิ เสรีภาพ ประชาชนอย่างกว้าง VS ดึงอำนาจส่วนบน(การบริหารประเทศ นโยบาย)ในกำกับของชนชั้นนำ


รัฐธรรมนูญปี’50 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ เสรีภาพ อำนาจ อย่างกว้างขวางแก่
ประชาชน มากกว่าหรือเทียบเท่า รัฐธรรมนูญ’40 เช่น การเสนอกฎหมาย การถอดถอนนักการเมืองจากเดิมต้องลงชื่อถอดถอนจำนวน 50,000 ชื่อถึงทำได้ แต่ใน รธน.’50 ใช้ 20,000 ชื่อก็สามารถทำได้แล้ว หรือการคงบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพตาม รธน.’40 หรือให้เรียนฟรี 12 ปี ฯลฯ ซึ่งการคงบทบัญญัติเหล่านี้ หรือขยายสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้น มี 2 นัยยะ นัยยะแรก คือ เป็นเจตนาดีที่เห็นคุณค่า และบทบาทของประชาชน นัยยะที่สอง คือ เพื่อเป็นเป้าล่อให้ประชาชนลงมติให้ผ่านการประชาพิจารณ์(ท่านจะคิดนัยยะไหนก็แล้วแต่หรือผสมกันก็ไม่ผิด)

แต่อย่างไรก็ตามพึงสำนึกว่าอำนาจในการบริหารนโยบาย การเงิน ระบบราชการล้วนเป็น
ของชนชั้นนำ(คนดี)ทั้งสิ้นโปรดดูหัวข้อข้างบน แล้วสิ่งที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่ ‘ชวนฝัน’ กับความจริงมันต่างกัน สิ่งที่ชวนฝันเป็นมายาที่จะปฏิบัติไม่ปฏิบัติก็ได้ นโยบาย ระบบข้าราชการ เงินงบประมาณต่างหากที่เป็นของจริง ดังที่ได้พิสูจน์มาแล้วทั้งการลงชื่อถอดถอนนักการเมือง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฯลฯ ล้วนไม่เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งนั้น ตัวอักษรไม่สามารถทำงานด้วยตัวมันเองได้ แต่ตัวระบบต่างหากที่ทำงาน

3.2 การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)

ร่างรัฐธรรมนูญ’50 กำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จำนวน 160 คนต้องมาจากการสรรหาของ คณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบ 1,2,3.....101 จากตัวแทนจังหวัดละหนึ่งคน จำนวน 76 คน และอีก 84 คนมาจากสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งต่างจาก รธน.’40 ที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะมีปัญหาดังที่รู้กันแต่สมควรหรือไม่ที่จะกลับไปใช้ระบบเต่าหนึ่งล้านล้านปี

ระบบเลือกตั้งแม้จะมีปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนก็สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบ ควบคุมนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะนักการเมืองย่อมต้องคำนึงถึงฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในที่นี้ขอเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน”

ระบบสรรหาเป็นระบบที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ อำนาจการสรรหาตกไปอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คน ที่ประกันได้หรือไม่ว่าจะได้คนที่เรียกว่า “ดี”??? และดีของใคร???ซึ่งก็ไมพ้นข้าราชการแก่บ้าง หนุ่ม(ที่มากกว่า 50) บ้าง และข้าราชการเหล่านี้ก็ไม่พ้นมองชาวบ้านว่าโง่ แล้วชาวบ้านประชาชนจะใช้เครื่องมืออะไรควบคุมคนเหล่านี้ในเมื่อประชาชนไม่ใช่คนแต่งตั้ง ไม่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง สุดท้ายวุฒิสภาก็เหมือนที่แล้วๆมาที่เป็นเพียงแต่สภาตรายาง วุฒิสภาจึงเป็นกับดักอีกตัวหนึ่งของ รธน.’50

ข้อเสนอของผมในส่วนของวุฒิสภา แม้จะเป็นแต่เสียงนกเสียงกาที่ท่านเทวดาทั้งหลายไม่ได้ยิน ผมว่าให้คงระบบเลือกตั้งแบบเดิม โดยอาจลดจำนวนวุฒิสภาให้เหลือจังหวัดละ 1 หรือ 2 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีอายุแต่ละสมัย 6 ปี ในรอบ 3 ปีให้จับฉลากออกครึ่งหนึ่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และแต่ละคนเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งในการเลือกตั้งประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนรู้ว่าใครมีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ และไม่จำเป็นที่เทวดาที่ไหนจะมาตัดสินแทนว่าใครคือตัวแทนของเขา แต่ถ้ายังดื้อที่จะให้มีการสรรหาต่อไป การสรรหาวุฒิสภาก็เป็นเหมือนกับดักที่พร้อมจะให้สังคมไทยติดกับได้ทุกเวลาในอนาคต


"Soldier never die" I love soldier !?!



3.3 นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.)

ร่างรัฐธรรมนูญ’50 กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎร โดยมีถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ’40 แต่อย่างไรก็ตาม รธน.’50 เกิดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ รวมถึงอารมณ์ของสังคมที่จับจ้องต่อ คมช. ว่าจะสืบทอดอำนาจต่อหรือไม่

การร่าง รธน.’50 กำหนดว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งของ ส.ส. นำมาสู่ข้อถกเถียงว่านายกฯจะมาจากคนนอกที่ไม่เป็น ส.ส.ได้หรือไม่ เพราะ รธน. เปิดช่องไว้ว่ามาจากการเลือกของ ส.ส. ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่ถ้าเขียนอีกอย่างหนึ่งว่า นายกฯต้องเป็น ส.ส.ก็จะตีความได้ชัดเจนกว่าถ้อยคำแรก

ถ้าเป็นสถานการณ์ในยามปกติการบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ย่อมไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เหมือนปี’40 ที่ถ้อยคำทำนองนี้ไม่มีการถกเถียง หรือตั้งข้อสงสัยมากมายเหมือนเวลานี้ แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมหวาดระแวง เกิดความสงสัยต่อการสืบทอดอำนาจของ คมช. ถ้อยคำที่เปิดช่องให้มีการตีความที่กว้างขว้างอย่างนี้ย่อมไม่เป็นที่ไว้ใจของสังคม โดยสำนึกหรือไม่ก็ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องพึงระวัง และอย่าแกล้งลืมว่าวีรชน 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, และ พฤษภาคม 2535 ล้วนหลั่งเลือด พลีชีพ เพื่อรักษาระบบประชาธิปไตย ภายใต้อุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง ดีงาม และในท้ายที่สุดจะนำสันติประชาธรรมสู่สังคมได้ ซึ่งแตกต่างจากทหารหารบางคนที่ออกมาบอกว่าไม่มีใครที่จะสละชีพเพื่ออุดมการณ์อะไรได้ แล้วไอ้คำปฏิญาณที่ว่าจะสละชีพเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้นก็ไม่มีความหมายกระนั้นหรือ

ท้ายสุดถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเขียนอย่างมีนัยยะก็ดี ไม่มีนัยยะก็ดีท่านจงสำนึกไว้เถิดว่าท่านได้สร้างกับดักอีกตัวไว้ให้สังคมไทยแล้ว และจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แตกแยกของสังคมต่อไปในอนาคตแน่นอน

สรุป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กระแสการร่างรัฐธรรมนูญเงียบเหงา ซบเซา และกำลังจะเศร้าสร้อย ผู้คนในสังคมวางเฉยด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดความเห็น แลกเปลี่ยน ภายใต้บริบทของสังคมที่เราไม่สามารถหนีพ้นจากรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้ ยกเว้นว่าเราจะหนีออกไปอยู่ ณ โลกอื่น วิถีทางเดียวที่เราในฐานะประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะทำได้ คือ “การตั้งคำถาม” ตั้งคำถามกับอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเรา รวมถึงตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ

รัฐธรรมจึงเป็นฐานของการใช้สิทธิ เสรีภาพของเราในการต่อสู้กับอำนาจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด “สิทธิ์ความเป็นมนุษย์” เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์ การต่อสู้ในหนทางสันติวิธีเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำได้

รัฐธรรมนูญแม้จะอธิบายกันว่าเป็นกฎหมายสุดสูง กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่เมื่อมันเป็นแต่เพียงกระดาษที่เปื้อนหมึกหากไม่มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ความศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมมลายหายเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันที่เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ โดยคณะผู้ร่างฯจะสำนึกหรือไม่สำนึกก็ดีท่านได้วางกับดักให้สังคมไทยในอนาคตในหลายประเด็นดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น และประเด็นเหล่านี้ที่ท่านวาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้แก่สังคม อาจกลับมาเป็นเครื่องมือที่ทำลายสังคมเองก็ได้ ก็ในเมื่อท่านไม่ไว้วางใจในประชาชนเสียแล้ว ยกอำนาจราชศักดิ์ มั่นใจนักมั่นใจหนาในความดีของชนชั้นนำชาวฟ้า พวกไพร่ชาวดินก็คงหมดความหมาย แล้วเขาจะหวังอะไรเล่ากลับรัฐธรรมนูญฉบับ’50


".................................."

โลก[1]

โลกนี้มิอยู่ด้วย มณีเดียว
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ

ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมุติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ


[1] อังคาร กัลยาณพงศ์, “โลก” ใน กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ: กินรินทร์,2548, หน้า 31 อ้างใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลอมรวมเป็นหนึ่ง สู่ผสมผสานพันทาง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2550, หน้า 162.

นายชัยพงษ์ สำเนียง
นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: